Cover4.jpg

บทความ

จริยธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียง

จริยปรัชญากับเศรษฐกิจพอเพียง

โดย สุนัย เศรษฐบุญสร้าง* สถาบันสร้างอนาคตไทย

ข้อเขียนเกี่ยวกับจริยปรัชญากับเศรษฐกิจพอเพียงนี้ คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้างได้ศึกษาหลักธรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนามาเป็นเวลานานนับหลายสิบปี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัชเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงให้กับปวงชนชาวไทย ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2540 คุณสุนัยได้เห็นว่าพระราชดำรัชของพระเจ้าอยู่หัวมีคุณค่าอย่างยิ่งจึงได้ทำการศึกษาพระราชดำรัชอื่นๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อยมา และพบว่าความหมายที่พระเจ้าอยู่หัวทรงคิดไว้นั้นมิได้หมายถึงแต่เพียงเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่มีความหมายถึงพฤติกรรมต่างๆไว้ด้วยดังพระราชดำรัชพระเจ้าอยู่หัวที่มอบให้กับประชาชนชาวไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ซึ่งจัดเป็นการบูรณาการความคิดเชิงเศรษฐกิจและหลักการทางศาสนาจริยธรรมเข้าด้วยกัน คุณสุนัยจึงได้เขียนอธิบายเพื่อให้เข้าในง่ายขึ้น หลังจากนั้นคุณสุนัยก็ส่งให้หลายๆท่านได้อ่านและวิจารณ์พร้อมเสนอแนวคิด คุณมนตรี ศรีสกุลและดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ เป็นผู้ที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณสุนัยในข้อเขียนมากพอสมควรและได้เสนอคุณสุนัยให้ย่อเป็นส่วนสั้นๆเพื่อให้คนอ่านไม่เบื่อ และคุ้นเคยเข้าใจกับหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งน่าจะช่วยเป็นพื้นฐานในการนำหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศต่อไป

จริยปรัชญา (Ethics) คือเกณฑ์วินิจฉัยที่ใช้เป็นหลักสำหรับตัดสินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ “ดี” หรือ “ไม่ดี”อันเป็นพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรมที่ช่วยในการพัฒนา องค์กร สังคม และประเทศให้เกิดความเจริญเติบโต แต่เกณฑ์ที่จะใช้ประเมินคำว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ซึ่งเป็นคำที่เป็นนามธรรมทำให้ยากต่อการประเมิน อย่างไรก็ตามนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำรัชแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ทำให้สามารถเป็นเกณฑ์พิจารณาและนิยามคำว่า “ความดี ความไม่ดี” ออกมาเป็นรูปธรรมตามนัยแห่งหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นการกระทำ “อย่างมีประสิทธิผล” “อย่างเป็นประโยชน์” และ “เกิดความสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน”  การปลูกฝังค่านิยมเชิงจริยปรัชญาจึงเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการพัฒนาและส่งผลต่อสังคมให้เป็นไปตามเป้าหมาย   ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงให้เกณฑ์วินิจฉัยหรือนิยามความหมายของคำว่า “ดี” ตามนัยแห่งหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ว่า

“ บางคนพูดบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ถูก  ทำไม่ได้  ไม่ดี  ได้ยินคนเค้าพูด  แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี  แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ  แต่ยังไงก็ตามเศรษฐกิจพอเพียงนี้ขอย้ำว่าเป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล  โดยมีเหตุและผล  คือผลมันมาจากเหตุ  ถ้าทำเหตุที่ดี  ถ้าคิดให้ดี  ผลที่ออกมาคือสิ่งที่ติดตามเหตุ  การกระทำก็จะเป็นการกระทำที่ดี  และผลของการกระทำนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ดี  ดีแปลว่ามีประสิทธิผล  ดีแปลว่ามีประโยชน์  ดีแปลว่าทำให้มีความสุข” (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, ประมวลคำในพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯตั้งแต่พุทธศักราช 2493-2546 ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2548, หน้า 115)

เกณฑ์วินิจฉัย 3 ประการตามแนว “หลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้น จึงสามารถประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่เป็นพลวัตรเชิงสมดุล (Dynamic Equilibrium) ดังนี้

1. การ “มีประสิทธิผล” (Efficacy หรือ Effectiveness) คือการกระทำใดใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างประหยัดกว่า แต่สามารถช่วยให้บรรลุผลที่ต้องการได้ตามเป้าหมาย ก็ถือว่าเกิดผลที่ “ดีกว่า”

2. การ “มีประโยชน์” (Utility หรือ Benefit) คือการกระทำใดสามารถก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวมได้มากกว่าก็ถือว่าเกิดสิ่งที่ “ดีกว่า”

3. การ “ทำให้มีความสุขที่ยั่งยืน” (Happiness with Sustainability) คือการกระทำใดก่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนมากกว่า มิใช่แค่ให้ความสุขในระยะสั้นแต่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาความบีบคั้นเป็นทุกข์ที่มากกว่าโดยรวมตามมาในระยะยาวก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ “ดีกว่า”

หลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสข้างต้น  จึงเป็นหลักการสากลที่เข้าได้กับแนวทางการพัฒนาองค์กร สังคม และประเทศ  มีความกระชับชัดเจน  สามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์และสอดคล้องกับหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยการเดิน “สายกลาง” ได้แก่

1.  ความมีเหตุผล กล่าวคือขั้นแรกต้องเรียนรู้เพื่อปรับความคิดให้เที่ยงตรงในเหตุในผล (rationalization) ก่อนว่า  “ผลที่ดี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “มีประสิทธิผล  มีประโยชน์  และทำให้มีความสุข (อย่างยั่งยืน)” ในกรณีนั้นๆคืออะไร  และต้องกระทำ “เหตุ” อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผลที่ “ดี” อันเป็นที่พึงประสงค์ดังกล่าว (ขั้น เข้าใจ หรือการตั้งสมมติฐานอย่างถูกต้อง)

2.  ความพอประมาณ เมื่อตั้งสมมติฐานได้อย่างเที่ยงตรงในเหตุในผลได้แล้วจะต้อง   ออกแบบการปฏิบัติและทดลองลงมือประพฤติปฏิบัติให้ถึงจุดพอดีพอประมาณอย่างมี “สมดุลในเชิงพลวัต” (dynamic equilibrium) ที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป  โดยค่อยๆ “ยกระดับ” จากง่ายไปหายาก จากเล็กไปหาใหญ่ ฯลฯ เพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้น อันมิใช่สักแต่แค่การคิดหรือพูดเฉยๆแล้วไม่ลงมือทำอะไร (ขั้น เข้าถึง หรือการประพฤติปฏิบัติเพื่อพิสูจน์สมมติฐาน)

3.  การมีภูมิคุ้มกัน เมื่อลงมือทดลองปฏิบัติตามสมมติฐานอย่างพอเหมาะพอดีจนเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ต้องสรุปผลการทดลองประพฤติปฏิบัตินั้นๆให้ตกผลึกเป็น “ปัญญา” เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาต่างๆต่อไปให้ยั่งยืนจนกลายเป็นภูมิคุ้มกันของชีวิต (ขั้น พัฒนา หรือการสรุปความคิดรวบยอดให้เกิดเป็นปัญญาที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างเที่ยงตรงในเหตุในผลมากขึ้น)

การมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “ผลที่ดี” คืออะไร เป็น เงื่อนไขด้านคุณธรรม ขณะที่การมีความรู้อย่างถูกต้องว่าจะต้องกระทำ “เหตุ” อะไรและอย่างไร  เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของ “ผล” ที่ดีดังกล่าวคือ เงื่อนไขด้านความรู้ อันจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขหลักของเศรษฐกิจพอเพียง  ก็คือกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (scientific method) เพื่อให้ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ดังนั้นหลักคุณธรรมจริยธรรมต่างๆที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งจริยปรัชญานี้จึงเชื่อมโยงกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างกลมกลืน

ในบริบทสังคมไทยปัจจุบันซึ่งมีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สมควรนำหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่างๆเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความหมายในหลักจริยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิด “ประสิทธิผล” “มีประโยชน์” และที่สำคัญทำให้ “เกิดความสุขอย่างยั่งยืน” และพร้อมๆไปกลับการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ต้องเผชิญจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์เพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ต่อสังคมไทยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งทำให้เกิดผลโดยเร็ว

หมายเหตุ: *คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้าง เป็นกรรมการบริหารของสถาบันสร้างอนาคตไทย  จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเภสัชศาสตร์ และปริญญาโททั้งทางโลกทางธรรม มีผลงานเกี่ยวกับการเขียนหนังสือหลายเล่ม เป็นวิทยากรรับเชิญบรรยายเกี่ยวกับวิชาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของมหาวิทยาลัยสุโขทัย มีวิดีโอที่สามารถเปิดให้ศึกษาประมาณ 50-60 ชุด

ที่มาของข้อมูล http://www.creativevill.com/