Cover4.jpg

มัสยิด

มัสยิด จํานวน 1 แห่ง 

          ศาสนาอิสลามในจังหวัดตรัง ราวๆ ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ศาสนาอิสลามเข้ามาในแหลมมลายูพร้อมกับการค้าของชาวอาหรับและแพร่หลายไปทั่วในกลุ่มคนพื้นเมืองมลายู ต่อเนื่องมาจนถึงทางภาคใต้ของไทยและเมืองตรัง ที่เมืองตรังจะแพร่หลายอยู่ในชุมชนชายฝั่งทะเลเป็นส่วนมาก ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดตรังส่วนใหญ่จึงเป็นหมู่บ้านชาวทะเลอยู่ในเขตอำเภอสิเกา กันตัง ปะเหลียน ย่านตาขาวและอำเภอหาดสำราญ
          หลักฐานที่ปรากฏชัดถึงการมีอยู่และเป็นที่ยอมรับว่าศาสนาอิสลามและมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเมืองตรัง คือในทำเนียบกรมการเมืองของเก่า พ.ศ. 2355 กล่าวถึงตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ รวมทั้งกรมการเมืองฝ่ายอิสลาม ซึ่งมีด่านทะเลฝ่ายไทยอิสลามมีด้านเกาะลิบง ด่านชายฝั่ง ด่านตอนในและประวัติบอกเล่าของกลุ่มคนในตระกูลเก่าของอำเภอปะเหลียน กล่าวว่า เมื่อบ้านหยงสตาร์และบริเวณใกล้เคียง มีกลุ่มไทยมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่น ทางการได้แต่งตั้งหลวงจางวางราชสมบัติ(จอมซินตรี) ดูแลกลุ่มมุสลิมแถบชายทะเล

          ปัจจุบัน ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่ราชการกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ดูแลกลุ่มชนมุสลิมตรังในด้านการปฏิบัติกิจทางศาสนาและพิธีกรรมให้เกิดความสะดวก และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          ชาวตรังที่นับถือศาสนาอิสลามได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมผู้มีสันติ นอบน้อม และมีแนวการดำเนินชีวิตโดยยึดถือหลักศรัทธาทั้ง 6 หลักปฏิบัติทั้ง 5 ประการแห่งศาสนา เช่นเดียวกับมุสลิมทั่วไป ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ที่ประพฤติตามครรลองแห่งหลักธรรมของศาสนายังปรากฏเป็นวัฒนธรรมอิสลามอยู่ในการดำเนินชีวิตของมุสลิมตรังโดยรวม

          คติความเชื่อต่างๆ ของมุสลิมประยุกต์ปรับเปลี่ยน หรืองดเว้นไปบ้างตามสภาพสังคมแวดล้อมและค่านิยมส่วนท้องถิ่น เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด มุสลิมโดยทั่วไปไม่คุมกำเนิดหรือทำแท้ง เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม มีศรัทธาต่อองค์อัลลอฮ์ ในฐานะผู้สร้างชีวิตการคลอดบุตรส่วนใหญ่จึงยังถือปฏิบัติตามหลักศาสนา มีพิธีอะชาน พิธีโกนผมไฟ พิธีตั้งชื่อเด็ก และพิธีอากีเกาะห์ ตามที่ท่านศาสดามูฮัมมัดได้ปฏิบัติเป็นต้นแบบไว้ แต่เนื่องจากความนิยมเฉพาะถิ่นจึงอาจมีพิธีอื่นเพิ่มขึ้น เช่น พิธีนำเด็กขึ้นเปล พิธียกเด็กให้เป็นลูกของคนอื่นเพราะความเจ็บป่วยเลี้ยงยาก การเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะเชื่อว่ามีอักษรเป็นกาลกิณี ตลอดจนการตั้งชื่อเล่นให้เด็กตามกระแสนิยมที่ได้สัมผัสมาจากทางสื่อต่างๆ และมีไม่น้อยที่ตั้งชื่อจริงเป็นภาษาไทย ชื่อรองเป็นภาษาอาหรับ ส่วนพิธีโกนผมไฟนั้นปัจจุบันมุสลิมบางรายมิได้ถือปฏิบัติ

          ในพิธีเข้าสุหนัด มุสลิมตรังยังคงถือปฏิบัติตามคำสอนและแบบฉบับของท่านศาสดาเพื่อรักษาความสะอาดและป้องกันโรค บางท้องถิ่นได้ประยุกต์ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขสมัยใหม่นำไปใช้ในพิธี เช่นการฉีดยาชา เชิญแพทย์พยาบาลมาทำพิธีที่บ้านหรือนำเด็กไปยังคลินิกหรือโรงพยาบาลให้แพทย์ขลิบปลายอวัยวะเพศเด็กชาย
          ในส่วนของวัฒนธรรมทางสังคม มีแนวทางปฏิบัติตามศาสนบัญญัติที่เป็นพิธีกรรมเรียบง่ายและประหยัด ปฏิบัติได้ไม่ยาก ส่วนที่ปรับเปลี่ยนไปบ้างก็มี เช่น การแต่งกายตามความนิยมในท้องถิ่น การจัด
ขบวนขันหมากในพิธีสมรส การทำบุญครบ 3 วัน 7 วัน 40 วัน 100 วัน หรือครบปีแก่ผู้ตาย หรือการจัดเลี้ยงในพิธีการต่างๆ ตามกระแสสังคมที่ปรากฏทั่วไปในท้องถิ่นตรัง จนบางครั้งแทบแยกไม่ออกว่าไหนคือแก่นไหนคือกระพี้
          ด้านการจัดการศึกษาเพื่อสืบทอดศาสนาในจังหวัดตรังนั้น ในส่วนการศึกษา หลักศาสนา ได้มีมัสยิดต่างๆ จัดให้มีการสอนศาสนาภาคพิเศษ โดยใช้เวลาตอนเย็นหรือวันเสาร์อาทิตย์ สอนคัมภีร์อัล-กุรอ่าน หรือการบรรยายธรรม (คุฏบะฮ์) ในพิธีละหมาดโดยอิหม่ามที่จังหวัดตรังยังไม่มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ให้การศึกษาเบื้องต้น มุสลิมที่ประสงค์จะให้บุตรหลานได้เรียนศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญ
จึงส่งบุตรหลานไปเรียนต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี

          มุสลิมโดยทั่วไปจะเน้นให้ครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการสืบทอดศาสนา แต่สำหรับในจังหวัดตรัง สถาบันครอบครัวยังปฏิบัติได้น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีความรู้ในหลักศาสนาไม่เพียงพอ จึงมีสถาบันอื่นทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน


มัสยิดมะดีนะตุลอิสลาม
          ที่ตั้งเลขที่: 206/10 หมู่ที่: ถนนกันตัง ซ.6 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เบอร์โทรศัพท์: 0858912886


ความเป็นมา
          ในปี พ.ศ. 2524 มีพ่อค้าชาวอินเดีย นามว่า อาบีบ ดาดา เป็นพ่อค้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้เดินทางมาจังหวัดตรังเพื่อค้าขาย และท่านได้จุดประกายให้มีการสร้างมัสยิดในเขตเมืองตรัง และได้มอบเงินจำนวน 400,000 บาท ให้ซื้อที่ดินเพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างมัสยิด หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2525 ชาวมุสลิมในเขตเทศบาลนครตรังได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางในการก่อสร้างมัสยิด จนได้รับเกียรติจาก ท่านหะยีประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีในขณะนั้น มาร่วมเป็นประธานในการวางศิลารากฐานการก่อสร้างมัสยิดจนแล้วเสร็จในปีเดียวกัน
          ในปี พ.ศ. 2527 คณะกรรมการมัสยิดมีมติให้ขยายพื้นที่ของมัสยิด เนื่องจากมีพื้นที่ที่คับแคบมาก จึงร่วมกันจัดงานกุศลเพื่อหารายได้ ซื้อที่ดินเพิ่มเติม อีก 200 ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ทั้งสิ้น 1,800,000 บาท โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี
          ในปี พ.ศ. 2562 มติคณะกรรมการมัสยิดให้ดำเนินการสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่แทนหลังเก่าที่มีอายุ 30 กว่าปีและไม่เพียงพอต่อจำนวน สัปบุรุษที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 5.7 ล้านบาท จากสำนักงานบัยตุซซะกาต กระทรวงศาสนสมบัติ ประเทศคูเวต ผ่านการประสานงานของมูลนิธิเพื่อการส่งเสริมและการพัฒนา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยเมื่อก่อสร้างเสร็จ มัสยิดนี้ จึงมีชื่อภายใต้ของผู้บริจาค ว่า “มัสยิด อัลอับดุล อัลญะลีล” โดยมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563