Cover4.jpg

บทความ

เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทนำ

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึง แนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนให้ดำเนินไปในทางสายกลางของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว  ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา  การบริหารประเทศ   โดยเฉพาะการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันโลกในยุคโลกาภิวัฒน์  เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเป็นสิ่งที่ทุกสังคมปรารถนา และพยายามหาหนทางไปสู่เป้าหมายด้วยวิธีการต่างๆตามระบบความคิด ความเชื่อ และกำหนดอุดมการณ์ เป้าหมาย นโยบาย และกลยุทธ์การพัฒนาที่มีผลสืบเนื่องไปถึงวิถีการดำรงชีวิตต่างๆ ของคนในสังคม

แนวคิดเรื่อง วาทกรรมการพัฒนา Discourse of Development ) เป็นแนวคิดที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงการเกิดขึ้น การดำรงอยู่  การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์   เพื่อเชื่อมไปถึงสาเหตุและทางออก ของปัญหาการพัฒนา  เพื่ออธิบายว่าสิ่งต่างๆที่กล่าวข้างต้น เริ่มจากผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจที่มีอยู่วางระบบกฎเกณฑ์  รูปแบบต่างๆ  เช่นความรู้ ความจริง  หรือตัวตนที่เกิดขึ้น ต่อมาจึงใช้ภาษา  จารีตปฏิบัติ   ความคิดความเชื่อ คุณค่า รวมทั้งสถาบันต่างๆในสังคม เป็นเครื่องมือในการสร้าง หรือให้ความหมายต่อสิ่งนั้นตามต้องการ  เพราะฉะนั้นการพัฒนาจึงเป็นเรื่องของอำนาจ   ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรสิ่งมีคุณค่าทางสังคม

จุดเปลี่ยนสังคมไทยเมื่อย้อนไปมองในอดีตจะพบว่า สังคมดั้งเดิมเป็นสังคมที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย  มีเศรษฐกิจแบบพื้นฐานเป็นการผลิตเพื่อยังชีพสำหรับบริโภคใช้สอยในครัวเรือนและในชุมชนมิใช่เพื่อการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตสำหรับการยังชีพ แต่ได้มาจากสภาพธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ชาวชนบทมีความใกล้ชิดผูกพัน และตระหนักในสิ่งแวดล้อมซึ่งแสดงออกในรูปความเชื่อและพิธีกรรมที่ยกย่องต่อการรักษาสมดุลของธรรมชาติ    นอกจากนั้นความความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติและความสัมพันธ์ทางสายเลือด จึงสอดคล้องต่อการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งการแบ่งปันผลผลิต การพึ่งพาอาศัยในด้านต่างๆ ลักษณะทั้งหมดนี้จึงทำให้สังคมไทยในอดีตดำรงอยู่อย่างสงบ  พึ่งพาตนเองได้ และมีความพอเพียงต่ออัตภาพ  โดยสามารถสืบทอดเอกลักษณ์ดังกล่าวต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสายตลอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมเกิดขึ้น เมื่อสังคมไทยเข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อประเทศมหาอำนาจใช้อำนาจทั้งในรูปแบบความรู้ทางวิชาการ โครงการความช่วยเหลือต่างๆเข้ามาครอบงำ การกำหนดวาทกรรม เพื่อสร้างความหมายใหม่ของสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกับคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือคำว่า พัฒนา (Development) และ ด้อยพัฒนา  (Underdevelopment) ออกเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และ ประเทศที่ยังด้อยพัฒนา ต่อมาได้แพร่ขยายความหมายสู่กลุ่มประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา  แอฟริกา    รวมทั้งประเทศไทย  ซึ่งถูกให้ความหมายว่าเป็นประเทศด้อยพัฒนาประเทศหนึ่ง ทำให้เกิดกระแส ความต้องการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยตามแบบประเทศตะวันตก  จนในที่สุดได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกคือ  แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่   1   พุทธศักราช 2504

ฉะนั้นจึงมีการให้ความหมายสังคมที่พัฒนาว่า เป็นสังคมที่มีความทันสมัยตามแบบสังคมตะวันตก ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้างสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง   การศึกษา  ความเชื่อ ให้สอดคล้องกับแนวคิดของความทันสมัย( Westernization  ) อย่างเต็มที่ เหตุผลดังกล่าวจึงมีผลทำให้เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาประเทศในอดีตมุ่งไปสู่การทำให้สังคมไทยทันสมัย ตามแบบสังคมตะวันตก    ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม  โดยการส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการค้า  การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมๆกับการปฏิรูปการเมือง  การศึกษา ศาสนา เพื่อให้โครงสร้างสังคมมีการแบ่งแยกหน้าที่เฉพาะด้าน  มีผลทำให้เกิดความชำนาญ  สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น   และเอื้อต่อการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมทำให้วิถีชีวิต  โลกทัศน์ ระบบความเชื่อ และคุณค่าต่างๆของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมในชนบทผันแปรไปจากเดิม

ผลของการพัฒนาในด้านบวก ได้แก่   การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ  ระบบสื่อสารที่ทันสมัย   หรือการขยายปริมาณและการกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึง แต่ผลบวกเหล่านี้ ก็ยังคงกระจายไปสู่คนในสังคมชนบทหรือด้อยโอกาสได้น้อย   ซึ่งส่วนมากจะเป็นการกระจุกอยู่ในเมืองหลวงหรือตัวจังหวัดที่สำคัญ  ในขณะที่ผลลบก็คือ  เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรม  การส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่  เพื่อการค้าและส่งออก และจากการขยายตัวของภาครัฐไปสู่ชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดการอ่อนแอในหลายด้าน  ทั้งการต้องพึ่งพิงของตลาดและพ่อค้าคนกลาง โดยเฉพาะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และ ระบบนิเวศน์วิทยา   ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ  และการรวมกลุ่มกันตามประเพณี  เพื่อการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่แตกสลายลง  รวมทั้งภูมิปัญญาที่เคยสั่งสมกันมาเริ่มถูกลืมเลือนสูญหายไป   วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ ปีพุทธศักราช 2540  ที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวแบบฟองสบู่ และปัญหาความอ่อนแอของชนบท   รวมทั้งปัญหาสังคมอื่นๆที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ผลที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดคำถามและข้อสงสัยต่อแนวทางการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก ( Development  through Westernization ) ที่มีความเชื่อกันก่อนหน้าว่า ถูกต้องและเหมาะสมนั้น จะเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยต่อไปอีกหรือไม่ จึงเกิดแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่โต้แย้งทฤษฏีความทันสมัยเช่น   ทฤษฏีพึ่งพิง ( Dependency Theory) แนวคิดการพัฒนาการแบบยั่งยืน หรือแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน  เป็นต้น

ความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

เป็นความต้องการของมนุษย์ โดยภาพรวม มี 2 ระดับ คือ

1.  ความต้องการทางกายภาพ  เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิต  เป็นความต้องการเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ตามควรแก่เอกัตภาพ หากพิจารณาในทางพุทธศาสนา คือ ความต้องการปัจจัยเพื่อความมีอยู่ เป็นอยู่ ได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นความต้องการอันมีขอบเขตจำกัดต่อคุณภาพชีวิต

2.  ความต้องการทางจิตภาพ  เป็นความต้องการทางจิตใจในวิถีสังคม เพื่อตอบสนองสิ่งที่นอกเหนือจากกายภาพ มีทั้ง ภาวตัณหา คือ ความอยากมี  อยากเป็น และวิภาวตัณหา ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่น ความต้องการด้านความรัก ความสุขที่ตนเองคาดหวัง การมีชื่อเสียงเกียรติยศ เพื่อให้สังคมยอมรับ เป็นความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอ ที่ไม่มีขอบเขตหรือไม่จำกัด ตลอดจนการปฏิเสธสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ เช่น ไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว  ไม่ต้องการความล้มเหลวในชีวิต ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกดูหมิ่น เป็นต้น

ประเทศไทยและสังคมไทยที่ผ่านมาจนปัจจุบัน นับว่ามีความโชคดีอย่างมหาศาล ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ที่มีอัจฉริยภาพ ในหลาย ๆ ด้าน ประเทศไทย ณ วันนี้ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระอัจฉริยะกษัตริย์ในทุก ๆ ด้าน  โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคม พระองค์ทรงเล็งเห็นระบบทุนนิยมที่จะเข้าทำลายสังคม โลก และสังคมไทย สุดที่เยียวยาในเร็ววัน กอปรด้วยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรในที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในชนบทตลอดมา การเสด็จของพระองค์นอกจากเพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์แล้ว พระองค์ยังได้ทรงศึกษาปัญหาด้านต่าง ๆ จนทรงเข้าพระทัยอย่างถ่องแท้ แล้วหาวิธีแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ตามข้อเท็จจริงและสภาพสังคมอย่างดียิ่ง

ด้วยพระอัจฉริยภาพในการวิเคราะห์ปัญหาอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ พระองค์จึงทรงกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทย เป็น 2 ลักษณะสำคัญ คือ

  1. ยุทธศาสตร์การสร้างแบบจำลอง เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ความเป็นจริง ตามศักยภาพของเมืองไทยและสังคมไทย โดยการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ นำไปแก้ไขปัญหา
  2. ยุทธศาสตร์แบบโครงการ เป็นยุทธศาสตร์ที่สะท้อนออกมาในลักษณะศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย จนเกิดเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริมากมายนับพันโครงการ

ยุทธศาสตร์ทั้ง 2 ระบบดังกล่าว ต่างเอื้อซึ่งกันและกัน แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญในยุทธศาสตร์แบบจำลองเป็นหลักพื้นฐาน เพราะผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ใช้ คือ ประชาชนทุกคน จากที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญแห่งยุทธศาสตร์ แบบจำลองนี้เอง พระองค์ได้ทรงพยายามอธิบายและใช้แนวพระราชดำรินี้พัฒนาเรื่อยมาในลักษณะ “ทฤษฎีใหม่” หรือ “โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการทำไร่นาสวนผสม อันเกิดจากทรงคิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยให้ชาวชนบทมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า ทั้งทางด้านการพัฒนาการเกษตร เศรษฐกิจ วิถีชีวิต ชุมชน ความมั่นคง  วิทยาศาสตร์  ธรรมชาติ การปกครอง ครอบครัว และจิตสำนึก

ทฤษฎีใหม่ ที่พระองค์ทรงคิดค้น ได้รับความสนใจทั้งจากรัฐบาลและประชาชน ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย และจริงจังจากทุกส่วนฝ่ายมากนักแต่ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่านี้คือทางไปสู่ความมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง

ในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ภาษาชาวบ้านเรียกขานกันว่า “ฟองสบู่แตก”  กล่าวคือ ดูภายนอกแล้ว เศรษฐกิจไทยเดินไปอย่างสวยงาม น่าทึ่งแต่ขาดพื้นฐานยึดเกาะใด ๆ  เมื่อถูกกระแทกจากภาวะภายนอก ฟองสบู่ที่ดูสวยงาม ก็แตกสลายอย่างสิ้นเชิง เพราะไร้รากฐาน ที่เข้มแข็งพอ

การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับตอน ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เทคนิค แต่มีความหมายกว้างมาก เพราะต้องรวมเอา

1)  อุดมการณ์บางอย่าง

2)  โลกทัศน์บางอย่าง

3)  ความสัมพันธ์บางอย่าง

4)  ค่านิยมบางอย่าง

จึงจะนับได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง ทั้ง 4 ประการ ที่จะกล่าวถึงนี้ คือ ส่วนที่เรารู้จักกันว่า วัฒนธรรมนั่นเอง

ถ้าไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง ตามความหมายเช่นนี้ เศรษฐกิจพอเพียงจะมีความเป็นไปได้แก่คนจำนวนน้อยเท่านั้น คือ เกษตรกรที่มีที่ดินของตนเอง ในปริมาณเพียงพอจะผลิตเพื่อพอบริโภคหรือทำรายได้ พอสำหรับครัวเรือน เท่านั้น ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงนิยมกันไว้เพียงว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือวัฒนธรรม ไม่ใช่เทคนิคการเพาะปลูกหรือศีลธรรม ความไม่ละโมบ และการประหยัดเท่านั้น แม้ว่าเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของเศรษฐกิจพอเพียงก็ตาม

เศรษฐกิจพอเพียง  หมายถึง พอเพียงในอย่างน้อย 7 ประการด้วยกัน ได้แก่

  1. พอเพียงสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทอดทิ้งกัน
  2. จิตใจพอเพียง ทำให้รักกัน และเอื้ออาทรคนอื่นได้ คนที่ไม่พอจะรักคนอื่นไม่เป็น และทำลายมาก
  3. สิ่งแวดล้อมพอเพียง  การอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อมทำให้ยังชีพและทำมาหากินได้ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้ทั้งอาหารได้ทั้งสิ่งแวดล้อม และได้ทั้งเงิน
  4. ชุมชนเข้มแข็งพอเพียง  การรวมตัวกันเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาความยากจน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม
    1. ปัญหาพอเพียง  มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ และปรับตัวได้อย่างต่อเนื่อง
    2. อยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมเพียงพอ  วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของกลุ่มชนที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ดังนั้น เศรษฐกิจจึงควรสัมพันธ์อยู่และเติบโตขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรม จึงจะมั่นคง เช่น เศรษฐกิจของจังหวัดตราด ขณะนี้ ไม่กระทบกระเทือนจากฟองสบู่แตก ไม่มีคนตกงาน เพราะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เอื้อต่ออาชีพการทำสวนผลไม้ ทำการประมงและการท่องเที่ยว
    3. มีความมั่นคงพอเพียง ไม่ใช่วูบวาบ เดี๋ยวจนเดี๋ยวรวยแบบกะทันหัน เดี๋ยวตกงานไม่มีกินไม่มีใช้ ถ้าเป็นแบบนั้นประสาทมนุษย์คงทนไม่ไหวต่อความผันผวนที่เร็วเกิน จึงสุขภาพจิตเสีย เครียด เพี้ยน รุนแรง ฆ่าตัวตาย ติดยา เศรษฐกิจพอเพียงที่มั่นคงจึงทำให้สุขภาพจิตดี

เมื่อทุกอย่างพอเพียงก็เกิดความสมดุล ความสมดุล คือ ความเป็นปกติ และยั่งยืน ซึ่งเราอาจเรียกเศรษฐกิจพอเพียงในชื่ออื่น ๆ เช่น

–                   เศรษฐกิจพื้นฐาน

–                   เศรษฐกิจสมดุล

–                   เศรษฐกิจบูรณาการ

–                   เศรษฐกิจศีลธรรม

และนี่แหละ คือเศรษฐกิจทางสายกลาง  หรือเศรษฐกิจแบบมัชฌิมาปฏิปทา เพราะเชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง อาจมองได้เป็น 2 ด้าน คือ มองอย่างวัตถุวิสัย  และมองแบบจิตวิสัย

  1. มองอย่างวัตถุวิสัย  มองภายนอก คือ ต้องมีกินมีใช้ มีปัจจัยสี่เพียงพอ ที่เราพูดว่าพอสมควรกับอัตภาพ ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่าพึ่งตนเอง ได้ในทุกเศรษฐกิจ
  2. ส่วนความหมายด้านจิตวิสัย หรือด้านจิตใจภายใน คือ คนจะมีความรู้สึกเพียงพอไม่เท่ากัน บางคนมีเป็นล้านก็ไม่พอ บางคนมีนิดเดียวก็พอ เป็นการเพียงพอทางจิต

 

ดังนั้น คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง โดยนัย คือวิถีชีวิตที่พอเพียง และสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ โดยมิติผูกพันในส่วนของบุคคล พอเพียงทางเศรษฐกิจ คือพอกินพอใจ อย่างมั่นคง และพอเพียงทางจิตพิสัยทั้งอุดมการณ์ โลกทัศน์ ค่านิยมและต่อสังคมมิติ ในส่วนของสังคม คือ พื้นฐานทางสังคมที่พอเพียงสมดุลเข้มแข็ง ของชุมชน ทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การบูรณาการและวัฒนธรรม

หลักพิจารณาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

  1. กรอบแนวคิด   เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤตเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
  2. คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
  3. คำนิยาม  ความพอเพียง จะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้

-ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น  เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

                                        -ความมีเหตุผล  หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล  โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

                                        -การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4.เงื่อนไข  การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

-เงื่อนไขความรู้  ประกอบด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และมีความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

-เงื่อนไขที่จะต้องเสริมสร้าง  ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

5.แนวทางปฏิบัติ / ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

ดังนั้น คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง โดยนัย คือวิถีชีวิตที่พอเพียง และสมดุลระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภาพและจิตภาพ โดยมิติผูกพันในส่วนของบุคคล พอเพียงทางเศรษฐกิจ คือพอกินพอใจ อย่างมั่นคง และพอเพียงทางจิตพิสัยทั้งอุดมการณ์ โลกทัศน์ ค่านิยมและต่อสังคมมิติ ในส่วนของสังคม คือ พื้นฐานทางสังคมที่พอเพียงสมดุลเข้มแข็ง ของชุมชน ทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การบูรณาการและวัฒนธรรม

                การปรับตัวของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การปรับเปลี่ยนของสังคมไทย

ปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายๆมิติ การจะบูรณาการ มโนทัศน์ต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์สังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อวิเคราะห์ถึงโครงสร้างวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ

1.ระบบการผลิต  หรือ  ระบบการทำมาหากิน  การต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดของมนุษย์ทำให้เกิดระบบการผลิต  เกิดการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆซึ่งในสังคมดั้งเดิมของมนุษย์อาศัยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้คนรู้จักจัดการระบบความสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยสร้างความเชื่อต่างๆขึ้นจนทำให้เกิดเป็นระบบคุณค่า  เกิดการนับถือศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ  นอกจากนั้นการที่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม  จึงจำเป็นต้องจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันนี้ให้เหมาะสม  ทำให้เกิดจารีตประเพณี  ระบบกฎเกณฑ์  และพิธีกรรมต่างๆเป็นแนวทางและบรรทัดฐานให้สมาชิกของชุมชนทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปได้ถือปฏิบัติ  ระบบกฎเกณฑ์และประเพณีต่างๆจะถูกถ่ายทอดโดยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  จึงทำให้บางส่วนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ ต้องยกเลิกไปไม่มีถือปฏิบัติกันอีก

2.ระบบการอยู่ร่วมสัมพันธ์กัน  เช่น  ครอบครัว  เครือญาติและชุมชนรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน  แนวคิดดังกล่าว  แสดงความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงระหว่างระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ  ระบบคุณค่าและโลกทัศน์  กับความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ  ว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัยตามแบบทุนนิยมการค้า  ที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมๆกับการจัดระเบียบสังคมใหม่ เพื่อให้เอื้อต่อความทันสมัยนั้น  แม้ว่าผลที่เกิดขึ้น คือ ความทันสมัยทำให้คุณภาพชีวิตส่วนหนึ่งของคนดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่า  การพัฒนาด้านวัตถุและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่นี้  ได้ทำลายสายสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมตั้งเดิมซึ่งเป็นรากฐานของความสุข  ความมั่นคง  และความเข้มแข็งของชุมชนลง  ผลกระทบสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ  ศักยภาพในการรักษาอำนาจเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง รวมทั้งการรักษาสมดุลยภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  มนุษย์กับมนุษย์  และกายกับจิตของมนุษย์  อันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดความพอเพียงต้องถูกกระทบกระเทือน  จึงมีผลทำให้แต่ละชุมชนต้องพยายามหาหนทางเพื่อปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ได้  แต่ด้วยความที่แตกต่างกัน อาทิ  ลักษณะกายภาพ  สภาพภูมิศาสตร์  ทรัพยากรของแต่ละชุมชน  ทำให้เกิดการแสวงหาทางออกเพื่อรักษาความพอเพียง  ซึ่งเป็นทางรอดของแต่ละชุมชน  มีระดับลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  เช่น บางชุมชนรักษาความพอเพียงไว้ด้วยการสร้างระบบความสัมพันธ์ที่ไม่พยายามพึ่งพิงผู้อื่น โดยทำการผลิตเพื่อผู้บริโภคของตนเอง  และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด ไม่เน้นการผลิตแบบการค้า หรือหากจะต้องมีบ้างก็สามารถสร้างระบบการจัดการที่เอื้อให้เกิดการบูรณาการแลกเปลี่ยนสินค้า รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆให้ดำรงอยู่ในบริบทเดียวกัน หรือในบางชุมชนก็เลือกวิธีการอยู่รอด โดยการผนวกตนเองเข้าไปกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการค้า ด้วยการสร้างกระบวนการจัดระเบียบสังคมใหม่ ที่เอื้อให้เกิดความเป็นประชาสังคม (Civil Society) เพื่อรักษาความเป็นศักยภาพแห่งความพอเพียง และอำนาจต่อรองกับเศรษฐกิจภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจต่อกัน ซึ่งถือว่า เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ สามารถช่วยให้ชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อการจัดการปัญหาต่างๆ รวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาของตนเอง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจพอเพียง

3. ระบบความเชื่อ อันประกอบด้วย ระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม  ความไว้วางใจทางสังคมนี้เกิดขึ้นได้โดยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ด้วยการสร้างบรรทัดฐานแบบพึ่งพาอาศัยกันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานและกฎเกณฑ์กติกาของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันขึ้นมา พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการบังคับทางสังคมและการขัดเกลาทางสังคม เพื่อให้บรรทัดฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและยั่งยืน ประการที่สอง การสร้างเครือข่ายที่ทำให้บุคคลมาสัมพันธ์กันในเรื่องเกี่ยวกับชุมชน เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์แบบวิสาสะ (Association)  และความสัมพันธ์แบบแนวราบ  (Cooperation)  เพื่อให้สมาชิกได้สร้างนิสัยของความร่วมมือกัน ทำให้สามารถผลึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ รวมทั้งปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะและความไว้วางใจกัน จนในที่สุดสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชน แบบประชาสังคม (Civic Community)  ซึ่งมีศักยภาพตอบสนองความต้องการของตนเองได้เป็นอย่างดี และทำให้สามารถสร้างระบบการจัดการในการรักษาความพอเพียงของตนเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบริบทแวดล้อมไปอย่างไร ทำให้เกิดเป็นคุณค่าทางความเชื่อร่วมกัน จนนำไปสู่ระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมอื่นๆตามมา

องค์ประกอบทั้งสามส่วนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบใดระบบหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบอื่น ๆด้วย ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้โครงสร้างสังคมหรือวัฒนธรรมทั้งหมดเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต และมีความหลากหลายไม่คงที่

สรุปได้ว่า เงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยและความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมการค้า ก็คือ ศักยภาพของชุมชนในการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ระบบคุณค่าและบรรทัดฐานที่ทำให้ชุมชนสามารถสร้างศักยภาพในการปรับตัวอย่างมีอำนาจต่อรองและดำรงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตนเองไว้ได้ ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

 

เศรษฐกิจพอเพียงทั้งส่วนบุคคลและสังคม สามารถนำมารวมประสานให้เกิดความเข้มแข็งเป็นรูปธรรมจากการปรับวิถีทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในลักษณะภูมิปัญญาทั้งทางกายภาพด้านวัตถุพิสัยและจิตภาพด้านจิตพิสัยให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้บุคคลและสังคมดำรงอยู่อย่างสันติสุข ตามเอกกัตบุคคลและสังคมอย่างมั่นคง รวมขึ้นเป็นวัฒนธรรมพอเพียง เป็นชีวิตที่พอเพียง โดยมีแนวคิด ดังนี้

1.  ชีวิตที่พอเพียง หมายถึงชีวิตที่เพียงพอแล้ว โดยสามารถใช้พลังแห่งความทะเยอทะยานนำพา โดยไม่เกินขีดความสามารถที่จะไปถึง  มิฉะนั้นจะพบความหายนะ

2.  ชีวิตที่พอเพียง ไม่ใช่ชีวิตที่สันโดษ ไร้ความฝัน แต่คือใฝ่ฝันตามศักยภาพ ไม่ใช่เพ้อฝันโดยการก้าวไปอย่างมีสติ

3.  ชีวิตที่พอเพียง จะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตและวิถีสังคม ให้อยู่อย่างสง่างาม

4.  ชีวิตที่พอเพียง คือชีวิตที่พอประมาณ มีเหตุมีผล ในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง การใช้ความรู้อย่างรอบคอบ และมีคุณธรรม ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน

5.  ชีวิตที่พอเพียง คือชีวิตที่สำนึกในคุณธรรม จริยธรรม มีความเพียรพยายาม มีสติปัญญา ความรอบรู้และรอบคอบให้ พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ

6.  ชีวิตที่พอเพียง จะไม่ก่อให้เกิดการละเมิด บรรทัดฐานจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

7.  ชีวิตที่พอเพียง จะไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบต่อกันในสังคม ให้เกิดความเดือดร้อน

8.  ชีวิตที่พอเพียง จะมีความพอเพียงทั้งทางกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

9.  โลกวุ่นวายหนอ ขัดข้องหนอ เพราะคนไม่มีคติบนความพอเพียง หากรู้จักพอเพียง จะพบหนทางแห่งความสุขสงบ

จากแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง ดังกล่าว เป็นแนวคิดที่ยึดทางสายกลางหรือความพอดี ในการพึ่งพาตนเอง 2 ระดับ คือ

1.ระดับบุคคล คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตนตามฐานะ ตามอัตภาพ และที่สำคัญ ไม่หลงใหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสระเสรีภาพไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด

2.ระดับสังคม คือ ความสามารถของชุมชน สังคม ประเทศในการผลิต และบริการ เพื่อให้สังคมอยู่รอดอยู่ได้โดยการพึ่งตนเอง

                 ขอบเขตเศรษฐกิจพอเพียง

ทางสายกลางหรือความพอดีหรือความพอเพียง อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงที่ระดับบุคคล และสังคม มีขอบเขตหลักในการปฏิบัติให้สามารถพึ่งตนเองได้ 5 ประการ คือ

1.ด้านจิตใจ

1.1  มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้

1.2  มีจิตสำนึกที่ดี

1.3  มีความคิดเชิงสร้างสรรค์แก่ตนเองและสังคม

1.4  มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม

1.5  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

2.  ด้านสังคม

2.1  มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

2.2  มีความสามัคคี

2.3  มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

2.4  มีความเป็นอิสระในการคิดการดำเนินการ

3.  ด้านเศรษฐกิจ

3.1  ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

3.2  ยึดหลักพออยู่พอกิน พอใช้

3.3  มีการวางแผนอย่างรอบคอบในด้านการใช้จ่าย

3.4  มีความรู้ความสามารถในการจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่

3.5  มีภูมิคุ้มกันในความเสี่ยง

3.6  มีแผนสำรองเป็นทางเลือก

4.  ด้านเทคโนโลยี

4.1  มีภูมิปัญญาพื้นฐานในการแยกแยะสังคมที่ดี ไม่ดี ควรไม่ควร

4.2  รู้จักเลือกใช้ในสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการ

4.3  รู้จักปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริง

4.4  มีการพัฒนาภูมิปัญญาของตนเองให้ก้าวหน้า

5.  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5.1  รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด สอดคล้องกับบริบททางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5.2  พยายามหาวิชาการในการเพิ่มมูลค่าจากภูมิปัญญาที่มีอยู่

5.3  สามารถอยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข

5.4  รู้จักรักษาพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่ากับคนหมู่มาก

5.5  ยึดหลักความเข้มแข็งและยั่งยืน

                จุดมุ่งหมายของระบบเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  มีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

  1.  สามารถพึ่งตนเองได้
  2. ให้พ้นจากความยากจน
  3. ให้พอมีพอกิน และมีสัมมาอาชีพ
  4. ให้มีชีวิตที่เรียบง่าย ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย
  5. ให้ยึดถือทางสายกลาง รู้จักพอ พอดี และพอใจ

ฐานความคิดการพัฒนาเพื่อความพอเพียง

ฐานความคิด การพัฒนาเพื่อความพอเพียงควรมีหลักการ ดังนี้

  1. ยึดแนวพระราชดำริในการพัฒนา “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามขั้นตอน “ทฤษฎีใหม่”
  2. สร้าง “พลังงานทางสังคม”  โดยการประสาน “พลังสร้างสรรค์” ของทุกฝ่ายในลักษณะ “พหุภาคี”  อาทิ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ฯลฯ เพื่อใช้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาธุรกิจชุมชน
  3. ยึด “พื้นที่”  เป็นหลัก และใช้ “องค์กรชุมชน” เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่วนภาคีอื่น ๆ ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นอำนวยความสะดวกส่งเสริม สนับสนุน
  4. ใช้  “กิจกรรม”   ของชุมชนเป็น  “เครื่องมือ”   สร้าง   “การเรียนรู้”   และ   “การจัดการ”  ร่วมกัน พร้อมทั้งพัฒนา  “อาชีพที่หลากหลาย”  เพื่อเป็น  “ทางเลือก”  ของคนในชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างทั้งด้านเพศ วัย การศึกษา ความถนัด ฐานะเศรษฐกิจ ฯลฯ
  5. ส่งเสริม  “การรวมกลุ่ม”  และ  “การสร้างเครือข่าย”  องค์กรชุมชนเพื่อสร้าง “คุณธรรมจริยธรรม”  และ  “การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ”  อย่างรอบด้าน  อาทิ  การศึกษา  สาธารณสุข  การฟื้นฟูวัฒนธรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
  6. วิจัยและพัฒนา  “ธุรกิจชุมชนครบวงจร”  (ผลิต – แปรรูป – ขาย – บริโภค) โดยให้ความสำคัญต่อ “การมีส่วนร่วม”  ของคนในชุมชน และ  “ฐานทรัพยากรของท้องถิ่น”  ควรเริ่มพัฒนาจากวงจรธุรกิจขนาดเล็กในระดับท้องถิ่น ไปสู่วงจรธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นระดับประเทศ และระดับต่างประเทศ
  7. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มี “ศักยภาพสูง”  ของแต่ละเครือข่าย ให้เป็น  “ศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจชุมชน”  ที่มีข้อมูลข่าวสารธุรกิจนั้น ๆ อย่างครบวงจร พร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่สำหรับศึกษา ดูงาน และฝึกอบรม

                การประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงต่อการดำเนินชีวิต

การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตเพื่อนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตามอัตภาพ ควรพิจารณาดังนี้

  1. โดยพื้นฐานก็คือ การพึ่งตนเอง เป็นหลักทำอะไรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง
  2. พิจารณาถึงความพอดี พอเหมาะ พอควร
  3. การสร้างสามัคคีให้เกิดขึ้น บนพื้นฐานของความสมดุลในแต่ละสัดส่วนแต่ละระดับ
  4. ครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ สังคม เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นและการกลับไปใช้หรือสร้างวาทกรรมแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานั้น   ทางออกสำคัญเพื่อแก้ปัญหาจะต้องเริ่มต้นด้วยการตัดวงจรแห่งการพึ่งพิงที่เกิดจากความไม่เสมอภาคกัน โดยการสร้างอำนาจต่อรองให้เพิ่มขึ้น เพราะตราบเท่าที่สังคมไทยยังคงมีความสัมพันธ์ ในลักษณะการพึ่งพิงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพิงต่อสังคมโลก หรือการพึ่งพิงของชนบทที่มีต่อภาคสังคมเมือง  อำนาจต่อรองจะไม่เกิดขึ้น   และยิ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อย ที่ประชาชนเหล่านี้     จะกำหนดทางเลือก  การพัฒนาด้วยตนเอง    แม้แต่ประเทศไทย  ในภาพรวมก็ตาม   ที่ผ่านมาการก้าวเข้าสู่สังคมทันสมัย ไปพร้อมกับการปรับตัวในโลกยุคโลกาภิวัฒน์  มีผลทำให้การพึ่งพิงกระจายลงไปสู่ทุกภาคส่วน   อาทิ  ทางเศรษฐกิจ   สังคม และการเมืองอย่างแน่นแฟ้นนั้นคือ ประชาชนพึ่งพิงรัฐ  ขณะที่รัฐในฐานะสังคมส่วนหนึ่งของโลก ก็จำต้องพึ่งพิงตลาด  เทคโนโลยี  องค์ความรู้ และอิทธิพลของประเทศที่เหนือกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือคำอธิบายว่า  เพราะเหตุใดสังคมไทยซึ่งดูเหมือนว่ามีความทันสมัยอย่างเต็มที่   แต่ในขณะเดียวกันก็กลับสูญเสียอำนาจและอิสระในการตัดสินใจ  กำหนดทางเลือกการพัฒนา  สูญเสียอำนาจ ในการดำเนินชีวิต   รวมทั้งสูญเสีย   ความสามารถ    ในการสนองตอบต่อความต้องการ    และ การแก้ไขปัญหาของตนเองตลอดเวลาที่ผ่านมา

ประเทศตะวันตก  ได้ใช้อำนาจครอบงำ  โดยผ่านกระบวนการวาทกรรมทำให้เกิด  อุดมคติ ( Ideal – type) ของการพัฒนาด้วยวิธีการสร้าง ( Construct  ) แบบจำลองปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านการเชื่อมโยงมโนทัศน์ต่างๆ   เพื่อให้เกิดความทันสมัยขึ้นในสังคมไทย  โดยแบบ อุดมคติการพัฒนาที่สร้างขึ้น   แบ่งเป็นสองขั้วที่แตกต่างกัน  อันได้แก่สังคมทันสมัยที่พัฒนาแล้ว กับสังคมล้าสมัยที่ด้อยพัฒนา  ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้สังคมไทยเห็นความสำคัญ   เห็นความจำเป็น และประโยชน์จาการเปลี่ยนแปลง  ไปสู่ความเป็นประเทศที่ทันสมัยอย่างเต็มที่

กระบวนการ การตัดวงจรแห่งการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจพอเพียง จะมีลักษณะและวิธีการที่คล้ายคลึงกันกับการสร้างวาทกรรม ความทันสมัย   ดังที่ได้กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวาทกรรมที่แบ่งอุดมคติออกเป็น 2  ด้านด้วยกัน คือ

1. แบบอุดมคติแห่งการพึ่งพิง   Dependent ideal –Type ) ที่ปรากฏอยู่ในรูปของความเชื่อมโยงและ ครอบงำเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมกับระบบโลก

2. แบบอุดมคติแบบความพอเพียง ( Sufficiency Ideal-Type) ซึ่งประกอบด้วยมโนทัศน์ต่างๆเช่น ความเข้มแข็งของชุมชนและความเป็น ประชาสังคม ( Civil Society ) อันมีนัยของอำนาจที่มีอิสระในการตอบสนองและแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง รวมทั้งศักยภาพ ในการจัดการปัญหาต่างๆร่วมกันของชุมชน ตลอดจนรวมไปถึงมโนทัศน์อื่นๆ ที่ทำให้คนและสังคมสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนดแนวทางในการดำเนินชีวิต ที่รวมเรียกว่า  เศรษฐกิจพอเพียง   ( Self-sufficiency )เพื่อจุดประสงค์สูงสุด คือ ความมั่นคงและยั่งยืน ของทั้งส่วนบุคคลและสังคม นำไปสู่สังคมที่เข้มแข็งและพึงประสงค์ คือ

1.     สังคมคุณภาพ  ยึดหลักความสมดุล ความพอดี สร้างทุกคนเป็นคนดี คนเก่ง

2.    สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ให้คิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีเหตุผล และสร้างสรรค์

3.    สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน รู้รักสามัคคี

4.    สังคมสมดุล  คน + สังคม + ธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อม)

ในยุคสังคมประเพณี (ยุคอดีต) เมื่อชุมชนยังคงมีอำนาจในการควบคุมดูแลจัดการทรัพยากรต่างๆของตนเอง   อำนาจดังกล่าวมักเป็นรากฐานของการนำระบบความรู้ที่สั่งสมกันมา  หรือที่เรียกว่า  ภูมิปัญญาของชุมชน  จัดสร้างและพัฒนาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรูปของระบบ  บรรทัดฐาน  ไม่ว่าจะเป็นจารีตประเพณี  วัฒนธรรม  ความเชื่อ  และพิธีกรรม  อันเป็นผลเชื่อมโยงจากอิทธิพลของโลกทัศน์และระบบคุณค่าของชุมชนและโดยเหตุที่อำนาจยังคงดำรงอยู่อย่างเต็มที่ชุมชนจึงสามารถใช้อำนาจที่มีอยู่นั้นควบคุมดูแลให้ระบบความรู้และระบบการจัดการเหล่านี้ สามารถผลิตซ้ำให้เกิดขึ้นในสมาชิกรุ่นต่อไป โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตของชุมชน

เมื่อประเทศเปลี่ยนวิถีทางการพัฒนาอย่างตะวันตก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ทั้งทางด้านทางสังคม ทุกอย่างดูทันสมัยและสะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น การมีถนนตัดผ่านเข้าสู่หมู่บ้าน การมีสาธารณูปโภคที่ดี การแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งระบบทุนนิยมการค้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้าง สังคมหลายด้านดั้งนั้น อำนาจการจัดการของชุมชนที่เคยอยู่ในสภาพสมดุล จึงถูกกระทบกระเทือน ผลตามมาคือบรรทัดฐานที่เคยมีบทบาทในการกำหนดและควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดความพอเพียงถูกลืมเลือนและถูกทำลายด้วยกลไกลเศรษฐกิจการตลาดที่จำเป็นต้องกำหนดประเภทการผลิตทั้งที่บางครั้งชุมชนเหล่านั้นไม่มีองค์ความรู้ นั่นคือวิถีแห่งอุตสาหกรรม

แนวทางแก้ไขปัญหาก็คือ จำต้องจัดระเบียบและสร้างสำนึกในประชาสังคม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ( paradigm shift )  สร้างบรรทัดฐานแบบพึ่งพาอาศัยกัน(  norms of reciprocal ) การสร้างเครือข่ายที่ทำให้บุคคลมาสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับชุมชน ( Networks of civic engement    )  หรือการสร้างจิตสำนึกสาธารณะขึ้นมาทดแทนความสัมพันธ์แบบพึ่งพาในระบบเครือญาติของสังคมประเพณีที่มีบทบาทน้อยลงซึ่งสามารถพบเห็นได้จากวิวัฒนาการในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ้งความพอเพียงอันมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ชาติไทย  ในปัจจุบันก็คือ   การรวมตัวกันในกลุ่มคณะกรรมการป่าชุมชน  กลุ่มเกษตรนิเวศ  กลุ่มทอผ้า  กลุ่มธนาคารข้าว  รวมทั้ง กลุ่มออมทรัพย์ภายใต้ระบบการจัดการรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  สถาบันการศึกษา  องค์กรพัฒนาเอกชน  หรือแม้กระทั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสร้างศักยภาพในการปรับตัว   โดยระดมหลากหลายทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นความรู้  ทุน เทคโนโลยีจากแหล่งต่างๆนำมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ร่วมกันของชุมชน ที่มิได้ตัดตอนจากภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่กลับได้นำความรู้สมัยใหม่มาบูรณาการกันได้อย่างเหมาะสม  ปัจจัยเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงยังคงสามารถดำรงอยู่ในชุมชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนตลอดมา

การต่อสู้ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้เกิดระบบการผลิต เกิดการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ้งในสังคมดั้งเดิมของมนุษย์จะอาศัยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก  ทำให้คนรู้จักจัดการระบบความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยสร้างความเชื่อต่างๆขึ้นจนทำให้เกิดเป็น   ระบบคุณค่า  เกิดการนับถือศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนั้นการที่มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม    จึงจำเป็นต้องจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันนี้ให้เหมาะสม    ทำให้เกิดจารีตประเพณี   ระบบกฎเกณฑ์และพิธีกรรมต่างๆเป็นแนวทางและบรรทัดฐานให้สมาชิกของชุมชนทั้งรุ่นปัจจุบันและต่อไปถือปฏิบัติ ระบบกฎเกณฑ์ และประเพณีต่างๆจะถูกถ่ายทอด โดยมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับ สภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป   จึงทำให้ บางส่วนที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ต้องยกเลิกไปไม่มีการถือปฏิบัติกันอีก

แนวคิดดังกล่าว แสดงความเกี่ยวพันและเชื่อมโยง ระหว่าง   ระบบความสัมพันธ์ ทางเศรษฐกิจ    ระบบคุณค่าและโลกทัศน์กับความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัยตามแบบทุนนิยมการค้า ที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพร้อมๆกับการจัดระเบียบสังคมใหม่   เพื่อให้เอื้อต่อความทันสมัยนั้น แม้ว่าผลที่เกิดขึ้น คือ    ความทันสมัย ทำให้คุณภาพชีวิตส่วนหนึ่งของคนดีขึ้นแต่ในขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งกลับพบว่าการพัฒนาด้านวัตถุและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่นี้    ได้ทำลายสายสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิม   ซึ่งเป็นรากฐานของความสุข   ความมั่นคงและความเข้มแข็งของชุมชนลง ผลกระทบสำคัญอีกประการหนึ่งก็ คือ  ศักยภาพในการรักษาอำนาจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองรวมทั้งการรักษาสมดุลยภาพ   ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ    มนุษย์กับมนุษย์   และ กายกับจิตของมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ ที่จะทำให้เกิดความพอเพียงต้องถูกกระทบกระเทือน  จึงมีผลทำให้ แต่ละชุมชนต้องพยามหาหนทางเพื่อปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ได้แต่ด้วยความแตกต่างกัน   อาทิ  ลักษณะทางกายภาพ    สภาพภูมิศาสตร์    ทรัพยากรของแต่ละชุมชน ทำให้เกิดการแสวงหาทางออกเพื่อรักษาความพอเพียงซึ่งเป็นทางรอดของแต่ละชุมชน   มีระดับลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  เช่น  บางชุมชนรักษาความพอเพียงไว้ด้วยการสร้างระบบ ความสัมพันธ์ที่ไม่พยามพึ่งพิงผู้อื่น    โดยทำการผลิตเพื่อผู้บริโภคของตนเองและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด ไม่เน้นการผลิตแบบการค้าหรือหากจะต้องมีบ้าก็สามารถสร้างระบบการจัดการที่เอื้อให้เกิดการบูรณาการ แลกเปลี่ยนสินค้า   รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ    ให้ดำรงอยู่ในบริบทเดียวกัน  หรือในบางชุมชนก็เลือกวิธีการอยู่รอดโดยการผนวกตนเองเข้าไปกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมการค้า   ด้วยการสร้างกระบวนการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ที่เอื้อให้เกิด ความเป็นประชาสังคม (   Civil  Society)  เพื่อรักษาความเป็นศักยภาพแห่งความพอเพียงและอำนาจต่อรองกับเศรษฐกิจภายนอกไว้   ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมหรือการพึ่งพาอาศัยกันอย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานของความไว้วางใจต่อกัน (Social  trust  ) ซึ่งถือว่าเป็นทุนทางสังคม Social  Capital) ที่สำคัญสามารถช่วยให้ชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อการจัดการปัญหาต่างๆรวมทั้งกำหนดแนวทางการพัฒนาของตนเองอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจพอเพียง ความไว้วางใจทางสังคมนี้เกิดขึ้นได้โดยเงื่อนไขสำคัญ   2   ประการ  คือประการแรก  ด้วยการสร้างบรรทัดฐานแบบพึ่งพาอาศัยกันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานและกฎเกณฑ์กติกาของความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันขึ้นมา   พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการบังคับทางสังคมและการขัดเกลาทางสังคม   เพื่อให้บรรทัดฐานดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและยั้งยืน    ประการที่สอง   การสร้างเครือข่ายที่ทำให้บุคคลมาสัมพันธ์กันในเรื่องเกี่ยวกับชุมชน  เช่น  การพัฒนาความสัมพันธ์แบบวิสาสะ   (  Association)  และความสัมพันธ์แบบแนวราบ  เพื่อให้สมาชิกได้สร้างนิสัยของความร่วมมือกัน (Cooperation  ) ทำให้สามารถผลึกกำลังกันดำเนินกิจกรรมต่างๆได้  รวมทั้งปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะและความไว้วางใจกันจนในที่สุดสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชนแบบประชาสังคม( Civic Community)   ซึ่งมีศักยภาพตอบสนองความต้องการของตนเองได้เป็นอย่างดีและทำให้สามารถสร้างระบบการจัดการในการรักษาความพอเพียงของตนเองไว้ได้ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนบริบทแวดล้อมไปอย่างไร เงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยและความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมการค้าก็คือ  ศักยภาพของชุมชนในการจัดระเบียบทางสังคมใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์   ระบบคุณค่าและบรรทัดฐานที่ทำให้ชุมชนสามารถสร้างศักยภาพในการปรับตัวอย่างมีอำนาจต่อรองและดำรงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตนเองไว้ได้ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ที่มาของข้อมูล http://personnel.obec.go.th/hris-th/