ลงพื้นที่ตรวจโรงครัวประกอบอาหารในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ บริเวณศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และศาลเจ้ากิวอ๋องเอี๋ย อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
วันนี้ ( 10 ตุลาคม 2561 ) นายบรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ,นายวิชัย ปราสาททอง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง,นางกรรณิการ์ บัวเลิศ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง ลงพื้นที่ตรวจโรงครัวประกอบอาหารในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ บริเวณศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และศาลเจ้ากิวอ๋องเอี๋ย อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สืบเนื่องจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังและเทศบาลนครตรัง สุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงหรือเตรียมอาหารเจ รวมทั้งอาหารเจพร้อมบริโภคที่โรงครัวของศาลเจ้า 5 แห่งและร้านค้าที่อยู่บริเวณศาลเจ้าเพื่อทดสอบว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภคหรือไม่ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างดังกล่าวจำนวน 34 ตัวอย่าง ผลการตรวจสอบพบว่าทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนโดยจำแนกเป็นผักสด 16 ตัวอย่างไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผลิตภัณฑ์โปรตีนเกษตร เกี๊ยวทอด ลูกชิ้น มะม่วงดอง ปอเปี๊ยะทอด เต้าหู้ทอด หมี่เหลืองทอดมัน ขนมขาหมู 14 ตัวอย่าง ผลไม่พบบอแรกซ์ และผลิตภัณฑ์โปรตีนเกษตร 4 ตัวอย่างไม่พบสารฟอกขาว *** ทั้งนี้ถึงแม้การดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยคุณภาพอาหารเจในเขตเทศบาลนครตรังจังหวัดตรัง พบว่ามีความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนต่างๆในอาหาร แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการบริโภคผักสด ผลไม้สด ก่อนนำมาบริโภคหรือประกอบอาหารควรมีการล้างผัก ผลไม้สด อย่างถูกวิธีเพื่อลดปริมาณสารพิษตกค้าง เช่น การล้างด้วยน้ำสะอาดแช่ด้วยน้ำส้มสายชูทิ้งไว้ 10 นาทีและล้างน้ำสะอาดลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 60 - 84 หรือล้างด้วยน้ำสะอาดแช่ผงฟูผสมน้ำแช่ทิ้งไว้ 15 นาที และล้างน้ำสะอาดลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 90 - 95 นอกจากนี้ยังมีอาหารที่นิยมรับประทาน เช่น ผักแห้งหลายชนิดใช้เป็นส่วนประกอบได้แก่ เก๋ากี้ ดอกไม้จีนเ ยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม ซึ่งอาจมีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณที่มากเกินกว่าค่าความปลอดภัยอาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย ดังนั้นจึงควรนำมาล้างน้ำและลวกในน้ำ 2 นาทีก่อนนำมาปรุงอาหารสามารถลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 90 สำหรับเก๋ากี้ล้างด้วยน้ำในอัตราส่วน เก๋ากี้ 10 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตร จำนวน 3 ครั้งแล้วลวกด้วยน้ำร้อนในอัตราส่วนเดียวกันก่อนนำไปปรุงโดยการต้มเก๋ากี๋ 10 กรัมต่อน้ำครึ่งลิตร สามารถลดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับตัวอย่างเก๋ากี้ที่ไม่ได้ล้างก่อนต้ม ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น