Cover4.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์

ประชุมกลุ่มย่อยเฉพาะบริเวณเพื่อเสนอรายละเอียดการออกแบบชุมชนเมือง

เทศบาลนครตรังร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 การศึกษา ออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองตรัง

>>>วันนี้ (10 ส.ค.64) ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์เทศบาลนครตรัง ชั้น 3 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 การศึกษา ออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีนายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง กล่าวรายงาน สำหรับการประชุมฯในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting และมีภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วม
>>>>สืบเนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เหมาะสมกับอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์หรือพัฒนาสถานที่อันทรงคุณค่ของชุมชน ให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชน ให้เป็นมาตรฐาน มีความเป็นระเบียบสวยงามปลอดภัยและเป็นเมืองน่าอยู่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่ดียั่งยืน จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ชิตี้แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อินเทลแพลน จำกัดให้เข้ามาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการ ได้กำหนดพื้นที่ออกแบบรายละเอียดเพื่อเข้ารับการขอสนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 พื้นที่โครงการ เป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครตรัง จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการจัตุรัสเมืองตรัง ระยะที่ 1 บริเวณหอนาฬิกา
2. โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะเทศบาลนครตรัง
3. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองน้ำเจ็ด เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (ช่วงที่ 1)
>>>ทั้งนี้การประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะมีการนำไปประกอบการออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาในเขตเทศบาลนครตรังทั้ง 3 โครงการ เพื่อให้มีรายละเอียดครบถ้วน สามารถนำไปเสนอของบประมาณค่าก่อสร้างหรือปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยเฉพาะบริเวณถนนวิเศษกุล หอนาฬิกาเมืองตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ หรือ “จัตุรัสเมืองตรัง” ให้เป็นลานสาธารณะ หรือ Plaza ที่มีความหลากหลายทั้งในมิติแห่งเวลาที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ในหลายช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิติของกายภาพ และสังคม ที่สามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ของเมือง ทั้งในเชิงเป็นลานกิจกรรมด้านวัฒนธรรม การจัดงานประเพณีประจำปี การจัดงานเทศกาลต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์รวมของเมืองที่สำคัญในระดับประเทศ
>>>รวมถึงโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะเทศบาลนครตรัง ซึ่งอยู่บริเวณสวนสาธารณะอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองน้ำเจ็ด เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว (ช่วงที่ 1) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะเทศบาลนครตรังกับสวนสาธารณะอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการท่องเที่ยว และอัตลักษณ์ของเมืองตรังในอนาคต
>>>อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการดังกล่าวฯมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกันในทุกมิติทั้งจากในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่ ตรงตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ และส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยงของเมือง